พาไปเที่ยว Japan Design Today 100 นิทรรศการ “ออกแบบ แบบญี่ปุ่น”

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาคนรู้จักผมได้ถามว่ามีโอกาสจะได้แวะผ่านไป TCDC (ที่ปัจจุบันอยู่ที่อดีตอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก) หรือไม่ เพราะมีงานชื่อ Japan Design Today 100 รวมงานดีไซน์ออกแบบ แบบญี่ปุ่น แถมฝั่งผู้จัดงาน คนเลือกของจัดแสดง (Curator) เป็นคนญี่ปุ่นล้วนๆซะด้วยสิ

อีกเหตุผลหนึ่งที่คิดว่าอยากจะมางานนี้ก็เพราะว่าหลังจากอ่านรายละเอียดบนเว็บของ TCDC (https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/Japanese-Design-Today-100) เองก็พบว่ามีของน่าสนใจ แถมบทความบนเว็บมีรายละเอียดเพียบ ชวนให้อยากมาดูว่าของแต่ละชิ้นคืออะไร มีที่มาอย่างไร และทำไมถึงถูกคัดเลือกให้มานำแสดง

อาคารไปรษณีย์กลางที่ปัจจุบันทำสีใหม่ ไม่ได้เป็นอิฐแดงๆ เหมือน  6 – 7 ปีก่อนแล้ว (เป็นสีนี้มาน่าจะราวๆ 3 ปีแล้ว)

Japan Design Today 100

เมื่อเดินเข้าไปจะเห็นป้ายบอกว่างานจัดที่ Gallery Room Floor 1 ทำให้เราต้องเดินผ่านอดีตโซนที่เคยเป็นไปรษณีย์ (ปัจจุบันดูๆ แล้วก็น่าจะนับว่าเป็นพื้นที่ของไปรษณีย์เหมือนกัน) และต้องผ่านประตูกระจกออกไป ข้างนอกเป็นพื้นที่เปิดไร้แอร์ เดินไปสักพักก็จะเจอห้องจัดแสดง

ตัวห้องจัดแสดงนั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขนาดเล็กกว่าที่คิดเอาไว้ (แต่ก็มีของแค่ 100 อย่างนี่นา) โดยห้องจัดแบบห้องสีดำ ไฟจะฉายไปที่วัตถุ และมีการแบ่งเป็นหมวดต่างๆ ตามโต๊ะ ได้แก่หมวดเครื่องใช้ในบ้าน และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามโต๊ะที่แตกต่างกัน

ของบางชิ้นเราก็เข้าใจได้ว่ามันพลิกโลกทั้งแง่ของการดีไซน์ และการใช้งานอุตสาหกรรม เช่นหมอหุงข้าวของ Toshiba ที่ทำให้การหุงข้าวในยุค 60 เป็นเรื่องง่าย แค่ใส่น้ำ ใส่ข้าว เสียบปลั๊ก กดปุ่ม หากแต่ทว่ารายละเอียดที่เขียนเอาไว้ดูจะน้อยไปสักนิด

เทคนิคการทำงานไม้ความแม่นยำระดับญี่ปุ่นที่ประกอบกันแล้วไม่รู้เลยว่ามาจากไม้คนละชิ้นกัน

ลำโพงนี้น่าจะคุ้นตาคนเดินห้างบ้าง ลำโพงยามาฮ่าที่ขายกันอยู่ในห้างบ้านเราก็ติดลำดับผลงานดีไซน์ด้วย

เก้าอี้สำหรับนั่งแล้วใส่รองเท้า ที่เห็นเป็นคันโยกนั่นคือด้ามจับช่วยใส่รองเท้าที่ฟังดูแล้วญี่ปุ๊น ญี่ปุ่นจริงๆ

งานชิ้นนี้แค่เห็นโคมไฟแบบพับได้ก็เดากันได้ไม่ยากว่าเป็นผลงานดีไซน์ของ Issey Miyake นั่นเอง

ถ้วยใส่พาสต้าที่ไม่แม้แต่จะเปิดให้ดูว่าข้างในภาชนะมีหน้าตาอย่างไร และอย่าลืมว่ามางานนิทรรศการแบบนี้ห้ามจับของจัดแสดงด้วยนะ

เห็นสวยๆ จนนึกว่าเป็นเซรามิกนี้เป็นเพียงกระดาษใช้แล้วทิ้งเท่านั้น

งานหลายๆ ชิ้นเห็นแล้วก็ต้องอุทานว่าโหนี่มันญี่ปุ่นสุดๆ ไปเลย (จนไม่น่าจะถูกนำไปใช้ที่อื่น) เช่นช้อนตักไอศครีมที่ถ่ายความร้อนจากผู้ถือลงไปยังไอติม เพื่อให้มันอุ่นแล้วละลายตักง่าย โดยของทั้งหมดในการจัดแสดงนั้นห้ามจับ (เป็นเรื่องที่เข้าใจได้) แต่ของหลายๆ ชิ้นมันก็ก่อให้เกิดคำถามในหัวบ่อยครั้งว่าวัสดุมันเป็นยังไงกันแน่ น่าเสียดายที่รายละเอียดที่ Curator ทิ้งเอาไว้ ก็ไม่ได้อธิบายข้อสงสัย

 

ชุดทางซ้ายแม้รายละเอียดจะน้อยนิด แต่ก็โด่งดังมากจนสามารถหาข้อมูลเพิ่มได้ มันเป็นเสื้อแจ๊คเก็ตที่ออกแบบมาให้ใช้งานกันหนาวโดยสามารถใส่วัสดุเข้าไปข้างในเองได้ (ปกติที่เราไปซื้อกันจะเป็นพวกเสื้อขนเป็ด ใส่มาเองอยู่แล้วและแกะเปลี่ยนไม่ได้) และถ้าหากไม่ใช้แล้วก็ให้เอาไปคืนทางร้าน ทางร้านจะนำไปบริจาคให้กับ NGO และกลุ่มผู้ลี้ภัย ซึ่งสามารถยัดหนังสือพิมพ์เข้าข้างในเพื่อเป็นฉนวนกันความหนาวได้ ส่วนชุดขวาสุดที่ดูเหลี่ยมๆ นั่นก็เป็นผลงานดีไซน์ของ Issey Miyake อีกเช่นกัน

มีความเป็นญี่ปุ๊นญี่ปุ่น เมื่อดอกยางล้อรถเด็กเป็นรูปปลา

งานกระดาษประดับที่พ่นสเปรย์น้ำเปล่าลงบนกระจกแล้วจะติดได้เอง ไม่มีคำอธิบายว่าดีไซน์มาแบบใด

เมื่อผู้มีปัญหาทางการได้ยินหลายๆ คนรู้สึกว่าไม่อยากใส่เครื่องช่วยฟังเพราะหน้าตามันบ่งชี้ว่าเป็นผู้พิการ Panasonic ก็เลยพัฒนาเครื่องที่หน้าตาดูเหมือนเครื่องเล่น MP3 ทำให้ดูทันสมัย ไม่เหมือนผู้พิการทางการได้ยิน

เก้าอี้พกพาแบบซ้อนเก็บได้เพื่อแค่ผลักเข้าไปรวมกัน

เอารถมาวางโชว์ไม่ได้ เอาภาพถ่ายมาดูกันแทนก่อน

ปิดท้าย

งานนี้น่าจะถูกใจคนที่ชื่นชอบ การ ออกแบบ แบบญี่ปุ่น สถานที่จัดแสดงถือว่าค่อนข้างดี (ห้องทึบ มีไฟไฮไลท์วัตถุ) โต๊ะแต่ละโต๊ะบ่งบอกถึงการแบ่งแยกหมวดที่ชัดเจน ของชิ้นใหญ่เกินเช่นรถยนต์ก็มาเพียงรูปแขวนไว้ เชื่อว่าฝั่งผู้ชมไม่ติดใจอะไรมาก

น่าเสียดายที่ของทุกชิ้นไม่มีรายละเอียดว่าทำไมถึงเข้ามาอยู่ที่นี่ได้ เหมือนกับว่า Curator ประทานรายชื่อของมาโดยไม่อธิบายว่าทำไมถึงเข้ามาอยู่ในรายการ มันพลิกโลกยังไง มันเปลี่ยนแปลงวงการดีไซน์ หรือสร้างความตื่นเต้นแบบไหน มันส่งผลกระทบอะไรกับผู้ใช้งานบ้าง ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมงานต้องไปค้นหาสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเอง (น่าจะติด QR Code เอาไว้ทุกชิ้น ผู้ที่สนใจจะได้ไปสืบค้นต่อเองได้)

ทุกครั้งที่ผู้เขียนแวะไปพิพิธภัณฑ์ของญี่ปุ่น งานแทบทุกชิ้นจะมีรายละเอียดมากกว่าบริษัทที่ดีไซน์ ชื่อดีไซน์เนอร์ และรายละเอียดเพียงสองบรรทัด (หลายครั้งยาวเหยียดจนถอดใจ กว่าจะอ่านจบก็หลายนาที) ซึ่งบางงานในญี่ปุ่นก็เข้าใจได้ว่าไม่มีการแปล ทีมงานไม่ได้เยอะพอ และไม่ได้คาดว่าชาวต่างชาติจะเข้าร่วมงาน แต่งาน Japan Design Today 100 เป็นงานที่จัดในประเทศไทย ตัวผู้เขียนเองก็คาดหวังว่างานจะมีรายละเอียดให้อ่านเป็นภาษาไทย ยาวแค่ไหนก็ไม่หวั่น

  • นิทรรศการ “ออกแบบ แบบญี่ปุ่น” Japanese Design Today 100
  • วันที่ 24 เมษายน  – 26 พฤษภาคม 2562
  • เวลา 10.30-21.00 น.
  • ห้องแกลเลอรี่ ชั้น 1 TCDC กรุงเทพฯ
  • เข้าชมฟรี (ปิดวันจันทร์)

Leave a reply:

Your email address will not be published.

Site Footer

EaterDiary © Copyright 2020, All Rights Reserved.